พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ของวัยนี้จะเริ่มพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง ชอบสำรวจและอยากทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง สามารถแยกแยะชื่อคนอื่นๆได้ สามารถร่วมมือในการทำตามคำสั่งได้มากขึ้นและช่วยงานบ้านได้มากขึ้น เช่น รดน้ำต้นไม้ ซื้อของ ทำความสะอาด ที่สำคัญของทักษะทางสังคมในวัยนนี้ คือ มีความสนใจและต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและผู้ใหญ่รอบตัวมากขึ้นมาก เรียนรู้ในการจัดการอย่างเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์อย่างง่ายๆ ใช้ภาษาพูดสื่อสารได้มากขึ้นรวมถึงการบอกอารมณ์ของคนอื่นได้ด้วยการพูดออกมา เช่น “แม่โกรธ” และใช้ภาษากายในการแสดงความเห็นอกเห็นใจคนอื่น โดยการกอดและตบหลังเบาๆ
การสอนทักษะทางสังคมที่เหมาะสมในลูกน้อยวัยเตาะแตะนี้ไม่ง่ายเลยนะคะ เพราะว่าถึงลูกอยากมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นๆ และชอบเล่นสนุก แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าใจสิ่งต่างๆทางสังคมได้อย่างเต็มที่ ตีความเอาเองตามประสาเด็ก เช่น “ของของหนู หนูก็หวงได้สิ ใช่ไหม?” “แย่งขึ้นรถก่อนเด็กคนอื่นโดยไม่ต่อคิว?” “ถ้าผลักคนอื่นออก เค้าก็จะได้ออกไปนี่ ไม่ใช่เหรอ?” เอาหล่ะสิจะสอนกันอย่างไรดีเอ่ย
การสอนทักษะทางสังคมที่เหมาะสมให้ลูกวัยเตาะแตะ เป็นสิ่งสำคัญ ในการช่วยพัฒนาความฉลาดทางสังคม หรือ SQ วัยนี้การช่วยเหลือให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะทางสังคม อันดับแรกคือการสอนวิธีการจัดการกับอารมณ์ให้ลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการอารมณ์ด้านลบของตัวเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น อันดับถัดมา คือการช่วยพัฒนาความสามารถของลูกในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และอันดับสุดท้าย คือ ช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ในการแสดงออกเมื่อต้องการอะไร ทั้งการพูดหรือการใช้ท่าทางบอก รวมถึงการแสดงความรู้สึกออกมาโดยไม่ต้องใช้ความก้าวร้าวรุนแรง
ทักษะทั้งหมดที่กล่าวมา มีผลอย่างมากที่ทำให้ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ มีความสุขในชีวิต มากกว่ามีความเก่งแต่เพียงเรื่องการเรียน หรือเรื่องการประสบความสำเร็จด้านการศึกษาหรือการเงิน ต่อไปเราจะมาดูกันค่ะว่าคุณแม่คุณพ่อจะช่วยพัฒนาความฉลาดทางสังคม SQ ให้ลูกน้อยวัยเตาะแตะกันอย่างไร
สิ่งที่เราจะทำคือให้ลูกได้พัฒนาความคิดและการมองสิ่งต่างๆจากมุมมองของตนเอง การเอาแต่ใจตัวเอง ให้เปลี่ยนเป็นการยอมรับผู้อื่นได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น และทำให้เป็นเด็กที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อไป
เปิดโอกาสให้เล่นกับเด็กอื่น
เปิดโอกาสให้เล่นกับเด็กคนอื่นและอยู่ใกล้ลูกขณะลูกเล่นกับเด็กอื่น เนื่องจากเป็นช่วงที่ลูกน้อยเพิ่งเริ่มมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอื่น คุณแม่คุณพ่อผู้เลี้ยงดูควรอยู่ใกล้ๆขณะลูกเล่นอยู่ที่สนามเด็กเล่น หรือเล่นกับเด็กคนอื่น ซึ่งเด็กหลายคนในวัยนี้อาจตีเด็กอื่นขณะที่เล่นกัน เพราะว่าไม่รู้จะทำอย่างไร เช่น เมื่อถูกแย่งของ หรือเมื่อรู้สึกไม่ดี ถ้าคุณแม่คุณพ่ออยู่ใกล้ๆขณะนั้นจะช่วยสอนให้ลูกใช้คำพูดบอกสิ่งที่ต้องการ เช่น หนูบอก “ลูกบอล” หรือ “ขอบอล” สิลูก ไม่ต้องตีกัน อีกประการหนึ่งถ้าคุณแม่คุณพ่ออยู่ด้วยลูกวัยนี้ก็จะรู้สึกปลอดภัย เมื่อรู้สึกปลอดภัยก็ไม่ต้องตีหรือทำร้ายคนอื่น และเรียนรู้เข้าใจในการบอกสิ่งที่ต้องการโดยใช้คำพูดหรือท่าทาง
เข้าใจและใส่ใจความรู้สึกลูกน้อยวัยนี้ให้มาก
เด็กที่ได้รับความเอาใจใส่ในสิ่งที่เค้ารู้สึกจากคุณแม่คุณพ่อมากๆ จะมีการพัฒนาความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของ ความสำเร็จในการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น
สอนให้แบ่งปันของให้คนอื่น แต่ไม่บังคับ
วัยนี้ลูกยังมีความรู้สึกหวงของอยู่มาก ลูกน้อยของเราต้องรู้สึกแน่ใจและปลอดภัยในความสัมพันธ์ก่อน แล้วจึงจะแบ่งปันได้ ทักษะ “การแบ่งปัน” เป็นทักษะที่มาช้าที่สุดนะคะคุณแม่คุณพ่อ ช่วงแรกๆคุณแม่คุณพ่ออาจเริ่มสอนจากเทคนิค “การผลัดกันเล่น” ก่อน เช่น น้องฟ้าคะส่งบอล ให้น้องภามหน่อยค่ะลูก เอ้า รอเดี๋ยวรอเพื่อนส่งกลับให้ค่ะลูก การผลัดกันเล่นรอคอยที่ละนิดไม่นานมากเป็นจุดเริ่มต้นในการแบ่งปันค่ะ
“แชร์” แล้ว “ชม” หนูหน่อย
เมื่อลูกน้อยของเราเริ่มแบ่งปันเป็น อย่าทำเป็นเรื่องธรรมดานะคะ วัยนี้ต้องทำให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่ลูกทำ นั้นเป็นสิ่งที่ดี เช่น ชมเชย บอกถึงข้อดีของการแบ่งปันว่าดียังไง คนอื่นได้มีความสุขด้วยเพราะหนู และหนูเป็นเด็กดีอย่างไร ไม่ต้องพูดยาวนักนะคะ สั้นๆให้ลูกน้อยเข้าใจง่ายๆจึงจะได้ผลค่ะ
ไม่ยอมให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวไม่เหมาะสม และเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมได้
ถ้าลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว ควรหยุดพฤติกรรมนั้นๆทันที โดยใช้ความจริงจัง สม่ำเสมอ และไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับไปกับลูก (รายละเอียดมีในตอนต่อไปนะคะ เรื่องนี้ยาวค่ะ)
กิจกรรมอ่านหนังสือวัยเตาะแตะ
อ่านหนังสือให้ลูกฟังเมื่อลูกพร้อม หนังสือที่เหมาะสมกับวัยนี้เป็นหนังสือที่มีลักษณะเป็นกระดาษ แข็งที่ค่อนข้างหนา ตัวหนังสือไม่มากนัก มีรูปภาพต่างๆที่น่าสนใจ คุณแม่คุณพ่ออ่านออกเสียงอย่างสนุกสนานให้ลูกมีส่วนร่วมในการเลือก ชี้ จับ หนังสือ ถามคำถามง่ายๆจากในหนังสือให้ลูกตอบ ลูกน้อยวัยนี้มีช่วงความสนใจได้นานขึ้น อาจถึง 15-20 นาที เชียวค่ะ
รับรู้และบอกความรู้สึกของลูกให้ลูกฟัง
คุณแม่คุณพ่อเมื่อรับรู้ความรู้สึกของลูกน้อยไม่ว่าจะในด้านบวก เช่น ดีใจ ตื่นเต้น สนุกมาก หรือด้านลบ เช่น เสียใจ โกรธ กลัว ไม่พอใจหรือกังวล นอกจากจะรับรู้แล้วควรบอกให้ลูกฟังด้วยว่าเราเข้าใจความรู้สึกหรืออารมณ์ขณะนั้นของลูก เพื่อให้ลูกรู้ว่าเราเข้าใจเค้า และควรบอกว่าความรู้สึกหรืออารมณ์ขณะนั้นของลูกเรียกว่าอะไร เช่น เมื่อลูกร้องไห้ บอกว่าคุณแม่เข้าใจค่ะว่าหนูเสียใจ หนูร้องไห้เพราะหนูเสียใจใช่มั้ยลูก เป็นต้น ต่อไปเมื่อลูกเกิดอารมณ์เช่นเดียวกันนี้อีก เค้าก็สามารถแสดงอารมณ์ผ่านให้เราทราบได้ด้วยคำพูด หรือท่าทางที่เหมาะสมได้ นอกจากนั้นควรค่อยๆเริ่มสอนให้ลูกเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นเช่นของคุณแม่คุณพ่อ หรือคนอื่น สอดแทรกไปในการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันของเราและลูกน้อยด้วยนะคะ
อ้างอิง
1. A framework for improving children’s mental health and wellbeing. Kids Matter Early Childhood . 2016 Dec 10 ; Available from: URL: https://www.kidsmatter.edu.au/early-childhood/kidsmatter-early-childhoo….
2. ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก. ชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย. ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย, รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์, สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงศ์, วีระศักดิ์ ชลไชยะ ,บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ:บียอนด์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด; 2556.
3. Guideline in child health supervision. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์, วินัดดา ปิยะศิลป์, วันดี นิงสานนท์, ประสบศรี อึ้งถาวร ,บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ:สรรพสาร จำกัด; 2557.