พัฒนาการเด็ก 3 เดือน พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการเด็กทารก 3 เดือน
สรุป
- ทารกวัย 3 เดือน เป็นวัยที่มีพัฒนาการที่รวดเร็ว คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลและเสริมพัฒนาการให้ครบทุกด้านเพื่อพัฒนาการที่ดีสมวัย
- การดูแลและส่งเสริมพัฒนาการของทารก 3 เดือนอย่างถูกวิธีและเหมาะสม ช่วยให้ทารกมีพัฒนาการที่ดีสมวัย
พัฒนาการเด็กทารก 3 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการทุกด้าน
ทารก 3 เดือนถือว่าเป็นวัยที่มีพัฒนาการด้านร่างกายและอารมณ์เติบโตขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว โดยจะสังเกตได้จากการมีกล้ามเนื้อคอที่แข็งแรงขึ้น สามารถหันซ้ายขวาได้มากขึ้น ซึ่งพัฒนาการที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือการใช้มือ กุมมือ จับสิ่งของต่าง ๆ รวมไปถึงการแสดงอารมณ์ผ่านสีหน้า ทั้งยิ้มแย้ม โกรธ ร้องไห้ นอกจากนี้ทารก 3 เดือนยังสามารถส่งเสียงอ้อแอ้ได้หลากหลาย และสามารถมองตามแสง สี เสียง จ้องใบหน้า และมองรอบ ๆ ได้อย่างเต็มตาแล้ว
พัฒนาการเด็กทารก 3 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการทุกด้าน
- น้ำหนักทารก 3 เดือน
โดยปกติแล้วเด็กทารกแรกเกิดจะมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,500-4,000 กรัม และหลังจากคลอดน้ำหนักจะลดลงเล็กน้อย และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ ซึ่งน้ำหนักมาตรฐานเฉลี่ยของทารก 3 เดือน ทารกเพศชายจะอยู่ที่ประมาณ 5-6.5 กิโลกรัม ทารกเพศหญิงอยู่ที่ประมาณ 4.5-6 กิโลกรัม
- ส่วนสูงทารก 3 เดือน
เด็กทารกในแต่ละช่วงวัยทั้งชายและหญิงจะมีการเติบโตที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเพศ กรรมพันธุ์ โภชนาการ การเลี้ยงดู ฯลฯ โดยทารกเพศชายจะอยู่ที่ประมาณ 55.7-61.9 เซนติเมตร และทารกเพศหญิงจะอยู่ที่ประมาณ 54.4-61.8 เซนติเมตร
พัฒนาการเด็กทารก 3 เดือน ด้านสติปัญญา
เด็กทารกวัย 3 เดือนจะไวต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 รวมทั้งเริ่มมีการสื่อสารผ่านการส่งเสียงอ้อแอ้ คุณพ่อคุณแม่ควรกระตุ้นการเรียนรู้ให้ลูกผ่านการสัมผัส การอุ้ม การลูบ การกอด หรือหาของเล่นที่ช่วยให้ลูกได้จดจำสัมผัส สีสัน รูปร่าง ที่มีความหลากหลายแตกต่างกันได้
พัฒนาการเด็กทารก 3 เดือน ด้านอารมณ์ และจิตใจ
ทารกวัย 3 เดือนจะเริ่มมีการแสดงสีหน้าและอารมณ์มากขึ้น เช่น การยิ้มแย้ม การหัวเราะ การขมวดคิ้วเมื่อไม่พอใจ ส่งเสียงเรียกคนคุ้นเคย ในวัยนี้เด็กจะมีการเล่นกับตัวเองมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้มีคนเล่นด้วย ไม่ชอบอยู่ตามลำพัง คุณพ่อคุณแม่จึงควรใช้เวลาในการเล่นกับลูกอย่างสม่ำเสมอ
พัฒนาการเด็กทารก 3 เดือน ด้านโภชนาการ
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่มีผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของทารก 3 เดือน ก็คือโภชนาการ ทารกทุกคนควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียว นับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน และควรได้รับต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 2 ปี หรือมากกว่านั้น ควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่เหมาะสมตามช่วงวัย เพราะในน้ำนมแม่มีสารอาหารสำคัญครบถ้วน จำเป็นต่อการพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูกน้อยในทุกด้าน
แต่ทั้งนี้คุณแม่ก็ไม่ควรป้อนนมลูกน้อยถี่จนเกินไป ควรเว้นระยะห่างประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง - 3 ชั่วโมง และหลังจากดูดนมแล้ว ควรไล่ลมให้เรียบร้อยก่อนจะปล่อยให้ลูกได้นอนต่อ และไม่ควรนอนคว่ำหลังจากดูดนม 1 ชั่วโมง เนื่องจากกระเพาะอาหารที่มีนมอยู่อาจไปรบกวนการหายใจของลูกได้
วิธีส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการเด็กทารก 3 เดือน
- ส่งเสริมกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหว คุณพ่อคุณแม่ควรยื่นหน้าเข้าไปพูดคุยเล่นโต้ตอบกับลูก หรือฝึกให้ลูกได้ใช้กล้ามเนื้อมือ เช่น ยื่นของให้ถือ ของเล่นเขย่า หรือแขวนโมบายที่ลูกสามารถเอื้อมมือถึงได้
- ส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ ให้ลูกอารมณ์ดี คุณพ่อคุณแม่ควรจัดให้ลูกนอนหงาย สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างอิสระ และถือของเล่นให้ห่างจากตัวลูกประมาณ 1 ฟุต จากนั้นเขย่าของเล่นไปมา หรือย้ายที่ซ้ายขวาเพื่อให้ลูกสนใจมอง ถ้าหากลูกไม่มองก็สามารถประคองหน้าให้หันตามได้ รวมทั้งอาจมีการสัมผัสเบา ๆ ที่แขน ฝ่าเท้า ท้อง หรืออาจกระตุ้นเพิ่มเติมด้วยการบอกให้ลูกยิ้มก็ได้
- ส่งเสริมการสื่อสารให้ลูก ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าเด็กทารก 3 เดือนจะเริ่มสื่อสารด้วยการส่งเสียงอ้อแอ้ที่แตกต่างกันไป คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมการสื่อสารให้ลูกโดยการชวนลูกพูดคุยบ่อย ๆ หรือทำหน้าตา สีหน้าเหมือนกับลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าสามารถทำหน้าตาเหมือนคุณพ่อคุณแม่ได้
ข้อควรระวัง พัฒนาการทารกและการเลี้ยงดูเด็กทารกวัย 3 เดือน
- เมื่อคุณแม่อุ้มพาดบ่า หรือเมื่อนอนคว่ำ เด็กทารก 3 เดือนจะสามารถยกศีรษะเองได้แล้ว หรือที่เรียกกันว่า ลูกคอแข็งแล้ว
- เด็กทารก 3 เดือน จะเริ่มโบกแขนไปมา และสามารถมองตามสิ่งของต่าง ๆ ได้ เพื่อพัฒนาการที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรมีการสื่อสาร พูดคุย และเล่นกับลูกให้มากขึ้น
คำแนะนำสำหรับคุณแม่
เนื่องด้วยการเลี้ยงเด็กทารก 3 เดือนมีรายละเอียดและความจุกจิกหลายอย่าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคุณแม่ การใช้ผ้าอ้อมที่มีแถบวัดความเปียกชื้นจะช่วยให้คุณแม่ทราบเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม และช่วยป้องกันผดผื่นคันของทารก ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่อำนวยความสะดวกให้คุณแม่มากยิ่งขึ้น
พัฒนาการเด็ก 3 เดือน แน่นอนว่ามักจะแตกแต่งกันออกไปตามการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัว สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญกับการการดูแลเอาใจใส่ เสริมสร้างพัฒนาการอย่างถูกวิธีและเหมาะสมที่สุด เพื่อพัฒนาการที่ดีสมวัยของลูกน้อยนั่นเอง
อ้างอิง:
- เด็กวัยไหนควรสูงเท่าไหร่ เช็คได้จาก “ตารางส่วนสูง”, Interpharma https://www.interpharma.co.th/articles/synbiotics-prebiotics-probiotics/%E0%B8%8A%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2/%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A3-%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%84?locale=th
- การเจริญเติบโตตามวัย น้ำหนัก ส่วนสูง และเส้นรอบศีรษะ, โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ https://www.princsuvarnabhumi.com/articles/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%8D%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2
อ้างอิง ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2566