MyFeed Personalized Content
พัฒนาการลูก 0-36 เดือน
บทความ

PLAYING: พัฒนาการเด็กทารก 9 เดือน คุณแม่ดูแลลูกอย่างไร เมื่อลูกเริ่มตั้งไข่

Add this post to favorites

พัฒนาการเด็กทารก 9 เดือน คุณแม่ดูแลลูกอย่างไร เมื่อลูกเริ่มตั้งไข่

เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 9 คนเก่งเริ่มตั้งไข่แล้ว ชวนคุณพ่อคุณแม่มาศึกษาพัฒนาการเด็ก 9 เดือน และ 3 เคล็ดลับการส่งเสริมพัฒนาการ ลูกน้อยวัยนี้ให้ตรงจุดที่สุด

2นาที อ่าน

ช่างน่าตื่นเต้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่จริงๆ สำหรับพัฒนาการเด็ก 9 เดือน เพราะลูกน้อยนั่งได้อย่างมั่นคง และเริ่มที่จะ ‘ตั้งไข่’ แล้ว มาสำรวจพัฒนาการเด็ก 9 เดือน ทั้งด้านร่างกายและด้านสติปัญญา รวมไปถึงเคล็ด(ไม่)ลับ เสริมพัฒนาการเด็ก 9 เดือน ที่เรานำมาฝากกัน

 

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน ด้านร่างกาย

 

พัฒนาการเด็กทารก 9 เดือน ด้านร่างกาย

 

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน ในด้านร่างกายนั้นลูกน้อยเจริญเติบโตขึ้น โดยน้ำหนักและส่วนสูงที่สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ข้อมูลไว้คือ
• เด็กผู้ชาย จะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 7.5-9.6 กิโลกรัม จะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 68-75 เซนติเมตร
• เด็กผู้หญิง จะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 7-9.3 กิโลกรัม จะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยตามเกณฑ์อยู่ที่ 66-75 เซนติเมตร
อีกทั้งในเดือนนี้กล้ามเนื้อมัดเล็กของลูกยังแข็งแรงและทำงานได้ดีขึ้นมาก เริ่มหยิบจับสิ่งของชิ้นเล็กๆ ได้ดีขึ้น เช่น กระดุม และยังเริ่มซน โดยการชอบใช้นิ้วแหย่ตามรู้ต่างๆ อย่างปลั๊กไฟ เป็นต้น คุณแม่ต้องคอยระวัง หรือควรปิดรูให้เรียบร้อย

 

3 พัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กวัย 9 เดือน

 

• คลาน ลูกน้อยในวัย9เดือน จะคลานได้คล่อง ว่องไว จนคุณพ่อคุณแม่จับกันไม่ทันเชียวล่ะค่ะ สามารถคลานไปด้วย ในขณะที่ถือของเล่นไว้อีกมือหนึ่ง
• นั่ง จะมีหลังที่แข็งแรงมากพอที่จะนั่งได้อย่างมั่นคง และนานขึ้นแล้ว ทั้งนั่งบนพื้นและบนเก้าอี้ ลูกน้อยชอบที่จะนั่งเล่นของเล่น เช่น ตุ๊กตากดมีเสียง เปิดหนังสือนิทาน หรือบางครั้งก็มักเอาของเล่นสองชิ้นมากระทบกันให้เกิดเสียง
• ยืน บางคนจะเปลี่ยนจากนั่งมาเป็นยืนด้วยการจับเครื่องเรือน เช่น เก้าอี้ โต๊ะ โซฟา เพื่อที่จะลุกยืน หรือบางทีก็จับร่างกายของคนใกล้ชิดเพื่อที่จะยันตัวขึ้นยืน แต่สำหรับเด็กบางคนก็สามารถใช้มือยันพื้น หรือลุกยืนขึ้นเองโดยที่ไม่ต้องจับอะไรเลยก็ได้ แต่ก็ยังเป็นเพียงการลุกยืนได้สักพักเท่านั้น ไม่นานเขาก็จะนั่งหรือล้มลงกลับมาอยู่ที่ท่านั่งเช่นเดิม ในช่วงนี้ คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมเตรียมเบาะนุ่มๆ ไว้รองรับสรีระของลูกน้อยด้วยนะคะ

 

พัฒนาการเด็กทารก 9 เดือน ด้านสติปัญญา

 

เพราะเริ่มโต อยากเล่นอยากรู้มากขึ้น ลูกจึงนอนน้อยลง ทำให้เขามีเวลาที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้มากขึ้น ลูกจะพูด เลียนเสียงได้ 1-2 พยางค์ อีกทั้งเขายังสามารถฟังการสนทนาของผู้ใหญ่และเริ่มเข้าใจ จนบางครั้งเริ่มโต้ตอบออกมาได้เป็นคำสั้นๆ เช่น ‘ไม่’ ‘ใช่’ ‘มา’ หรือส่งเสียงเรียกคุณพ่อคุณแม่ได้ เช่น ‘ปะป๊ะ’ ‘หม่ามะ’ เป็นต้น อีกทั้งยังฟังและตอบกลับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนได้ เช่น คุณแม่สั่งให้ไปหยิบหมอนมาให้แม่ ลูกน้อยก็จะคลานไปหยิบหมอนแล้วนำกลับมาให้คุณแม่ เป็นต้น นอกจากนี้ด้านความจำ ลูกยังพัฒนาขึ้นมาก เช่น จำการเล่นที่คุณแม่เคยเล่นด้วยบ่อยๆ ได้แล้ว เช่น การเล่นจ๊ะเอ๋ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่คอยสังเกตลูกน้อยว่า มีอาการเบื่อการเล่นแบบเดิมๆ หรือไม่ และเพื่อเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาของเขาให้พัฒนาขึ้นไปอีก คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะหากิจกรรมหรือการเล่นใหม่ๆ มากระตุ้นพัฒนาการของลูกและเพื่อให้เขาตื่นเต้นมากขึ้น เช่น โยนบอลใส่กล่อง ต่อบล็อก อ่านนิทานเล่มใหม่ หรือชวนลูกออกไปเล่นนอกบ้าน เป็นต้น

 

พัฒนาการเด็กทารก 9 เดือน ด้านอารมณ์ และจิตใจ

 

สำหรับพัฒนาการทารก 9 เดือน ด้านอารมณ์และจิตใจนั้น อาการกลัวคนแปลกหน้ายังคงมีอยู่ นอกจากนี้ในวัยนี้เมื่อลูกเห็นเด็กคนอื่นร้องไห้ ก็มักที่จะร้องตาม เริ่มมีความรู้สึกกับสิ่งต่างๆ รอบข้างมากขึ้น ทำให้บางครั้งลูกจะควบคุมอารมณ์และความเครียดไม่ได้ เช่น เวลามีเด็กอีกคนแย่งของเล่นไปจากมือ หรือพ่อแม่ขัดใจ ลูกจะร้องไห้จนถึงขั้นอาละวาดได้ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรที่จะตามใจไปเสียทุกอย่าง เพื่อไม่ให้ลูกติดเป็นนิสัยเอาแต่ใจตัวเองไปจนโต ยิ่งไปกว่านั้นยังชอบเล่นกับคนมากขึ้น เวลาที่คุณพ่อคุณแม่เอ่ยชม หรือปรบมือให้ลูกยังสามารถรับรู้ได้ถึงการกระทำนั้นว่า หมายถึงชมเชยเขา และจะตอบกลับมาด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หรือส่งเสียงพูดเป็นคำๆ ออกมาให้คนชมรับรู้

 

3 เคล็ด (ไม่) ลับ ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 9 เดือน

 

3 เคล็ด (ไม่) ลับ ส่งเสริมพัฒนาการเด็กทารก 9 เดือน

 

1. กระตุ้นพัฒนาการด้านการเรียนรู้ด้วยของเล่นใหม่ๆ

 

เด็ก 9 เดือนที่เติบโตขึ้นมาก ลูกอาจเบื่อของเล่นเดิมๆ ลองเปลี่ยนของเล่นให้น่าสนใจและท้าทายความสามารถของลูกให้มากขึ้น เช่น ของเล่นต่อบล็อก เป็นการฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูก และการต่อบล็อกต้องมีการจับวาง จึงทำให้ลูกได้จดจ่อและมีสมาธิมากขึ้น หรือแป้งโดว์ เลือกแบบที่มีสีสันสดใส ชวนลูกปั้นเป็นรูปทรงต่างๆ ก็เป็นการฝึกให้ลูกเป็นเด็กที่มีจินตนาการได้อีกด้วย

 

2. ใช้ดนตรีช่วยสร้างพัฒนาการทางด้านอารมณ์ให้ลูกมีอารมณ์ดี

 

อย่างที่บอกไปในข้างต้นว่า พัฒนาการเด็ก 9 เดือน อาจมีอารมณ์เกี้ยวกราด เมื่อถูกขัดใจ เช่น คุณแม่ให้เลิกเล่นของเล่น หรือเพื่อแย่งของเล่น แนะนำให้คุณแม่ใช้เสียงเพลงช่วยทำให้ลูกเป็นเด็กใจเย็น อาจหาเครื่องดนตรีชิ้นเล็กๆ ให้ลูกได้เล่น เช่น ลูกแซก กระดิ่ง หรือ เครื่องดนตรีที่มีปุ่มกด นอกจากนี้เวลาลูกกำลังคลานเล่น หรือนั่งเล่นของเล่น คุณแม่อาจเปิดเพลงทำนองฟังสบายๆ คลอไป เพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้กับลูกน้อย

 

3. พาออกไปเล่น ออกไปรู้ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการทางด้านร่างกาย

 

สำรวจสิ่งต่างๆ ในบ้านมามากพอแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรหาเวลาพาลูกออกไปเล่นข้างนอกดูบ้าง เช่น เดินเล่นที่สวนสาธารณะ ปิกนิคริมสระว่ายน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อพาลูกออกไปข้างนอกแล้ว ควรชี้ชวนให้เขาดูสิ่งต่างๆ รอบตัว และสอนเขาว่า สิ่งนี้คืออะไร พร้อมให้เขาได้สัมผัสสิ่งที่คุณแม่พูดถึงด้วย เช่น ‘นี่คือใบไม้’ พร้อมหยิบมาให้ลูกได้สัมผัส ‘น้ำเย็นๆ ไงลูก’ พร้อมให้ลูกเอามือหรือเท้าสัมผัสน้ำ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้และจดจำได้ดีที่สุด

 

สำหรับพัฒนาการเด็ก 9 เดือน เด็กแต่ละคนมีรูปแบบการเรียนรู้ที่เป็นแบบฉบับเฉพาะตัว คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตและจับจุดให้ได้ว่า ลูกเรามีลักษณะการเรียนรู้แบบไหน แล้วคอยส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกได้มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน และนอกจากเคล็ดลับดีดีที่เรานำมาฝากไปในข้างต้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรเสริมพลังและความแข็งแรง เพื่อให้ลูกใช้สำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัว แนะนำให้ลูกดื่มนมแม่ควบคู่กับกับอาหารเสริมตามวัย ซึ่งในวัยนี้ ลูกต้องการสารอาหารที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น วิตามิน แคลเซียม โปรตีนและเกลือแร่ ที่ช่วยเรื่องการเสริมสร้างกล้ามเนื้อและการเจริญเติบโต โอเมก้า 3,6 และดีเอชเอ ช่วยเสริมสร้างระบบประสาทและสมอง ซึ่งเท่านี้ลูกน้อยก็จะเติบโตสมวัย มีความพร้อมทั้งด้านร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง และการพัฒนาด้านสติปัญญาตามวัย แต่ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ คุณแม่อาจจะลองปรึกษาการใช้นมผงควบคู่กับการให้นมแม่ ซึ่งควรเลือกให้เหมาะกับช่วงวัยของลูกน้อย

 

อ้างอิง
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กเเรกเกิด - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง, 31 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก https://www.thaichilddevelopment.com/images/doc/Ebook1.pdf
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย, รู้เท่าทันน้ำหนัก-ส่วนสูง แนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จากโครงการพัฒนาเเหล่งน้ำ : ด้านโภชนาการ, 31 มีนาคม 2564, เข้าถึงได้จาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/files/AW-WeightHeight.PDF