อนาคตที่สดใส แต่การกระทำด้วยความหวังดีของพ่อแม่บางอย่าง อาจจำเป็นต้องพิจารณาเสียใหม่ และต้องหลีกเลี่ยง เพราะอาจเป็นผลเสียมากกว่าดี และอาจทำลายคุณค่าในตัวลูกอย่างคาดไม่ถึง มาดู 5 พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหลีกเลี่ยง รีบปรับเปลี่ยนเพื่อให้ลูกน้อยมี SQ หรือความฉลาดเข้าสังคมที่ดีกันค่ะ
1. ตามใจลูกจนเคยตัว
การตามใจลูกบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น คุณแม่เตือนลูกว่า “หมดเวลาเล่นแท็บเล็ตแล้ว” แล้วลูกไม่พอใจ กระทืบเท้า ร้องไห้งอแง คุณแม่จึงยอมให้ลูกเล่นต่อ เพียงเพราะสงสาร หรือแค่อยากให้ลูกหยุดร้องไห้ ซึ่งการตามใจลูกแบบนี้จะทำให้ลูกน้อยเคยตัว เอาแต่ใจ และลามไปถึงการไม่เชื่อฟัง หรือไม่ยึดมั่นในกฎกติกาของสังคม เพราะแม้แต่กฎในบ้านก็ยังไม่ต้องทำตามก็ได้ คุณแม่จึงต้องยึดมั่นในกฎกติกาที่ตั้งไว้ ไม่โอนอ่อนตามใจลูก การทำแบบนี้จะทำให้ลูกเรียนรู้มารยาทสังคม และเพิ่ม SQ ในตัวเขาค่ะ
2. ตั้งกฎเกณฑ์ด้วยบทลงโทษที่ไม่มีจริง
ในขณะเดียวกัน การตั้งกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดในบ้าน พร้อมการสารพัดจะเตือนหรือขู่ลูกเสียดิบดี เช่น ถ้าเล่นเกมเกิน 2 ชม. ต่อวัน จะงดการทานขนมสำหรับวันนั้น แต่สุดท้ายก็ไม่มีบทลงโทษอย่างที่คุณแม่ตั้งไว้ หรือพอเวลาผ่านไปก็ลืมกฎเกณฑ์เสียเอง ลืมที่ตัวเองเคยพูด สิ่งที่เกิดขึ้นคือคำพูดของแม่จะมีความเชื่อถือน้อยลง ลูกน้อยก็จะไม่เชื่อฟัง และคิดว่าตัวเองจะเล่นซนนอกกติกาอย่างไรก็ได้ นั่นเพราะเขาไม่ได้รับบทลงโทษที่คุณแม่ตั้งไว้นั่นเอง
3. การคิดว่า “ลูกยังเด็กน่า”
เป็นความคิดและข้อแก้ตัวที่จะสร้างผลเสียต่อทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยอย่างมากมาย จริงอยู่ที่ลูกยังเป็นเด็กเล็กๆ ซึ่งนั่นหมายความว่า คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นที่จะต้องอบรม สั่งสอน และตักเตือนเมื่อลูกทำผิด เพราะเด็กเล็กๆ ยังไม่รู้ว่าผิดถูกคืออะไร ต้องอาศัยคุณพ่อคุณแม่คอยบอกเขา ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยผ่านไป หรือแก้ตัวแทนลูกเมื่อเขารบกวนผู้อื่นว่า “ลูกยังเด็ก”
4. การตวาด หรือตะคอกลูก
การที่คุณพ่อคุณแม่ขึ้นเสียง หรือตะคอกใส่ลูกน้อยเมื่อไม่ได้ดังใจ หรือเมื่อทำอะไรผิด อาจทำให้ลูกหยุดหรือทำสิ่งที่คุณแม่ต้องการก็จริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ลูกเพียงแค่ตอบสนองคุณแม่ในระยะสั้นเท่านั้น เพราะหวาดกลัวและไม่อยากโดนทำร้าย ซึ่งในระยะยาว การตะคอกจะทำให้ลูกขาดความกล้าคิดกล้าทำ และสั่นคลอนถึงความสัมพันธ์ของคุณกับลูก จนห่างไกลจากความผูกพันในการเป็นครอบครัว
5. ลงโทษด้วยการทุบตี
หากคุณพ่อคุณแม่ลงโทษลูกโดยการทุบตีบ่อยๆ ลูกน้อยจะกลายเป็นเด็กที่เก็บกด มีอารมณ์รุนแรง ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นในตัวเองของลูกน้อยก็จะถูกบั่นทอนลงไปเรื่อยๆ ลูกจะเรียนรู้เพียงการพยายามหลีกเลี่ยงอย่างไรไม่ให้โดนตี มากกว่าจะเรียนรู้ว่าอะไรผิดชอบชั่วดี และรู้หรือไม่คะว่า มีผลวิจัยมากมายที่ให้การสนับสนุนตรงกันว่า สาเหตุที่มีการรังแกเกิดขึ้นในสังคมของเด็กๆ ส่วนมากมาจากพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงจากพ่อแม่ของเด็กที่รังแกเด็ก หากไม่อยากให้ตัวเองและลูกน้อยตกอยู่ในวังวนแบบนั้น ก็ต้องหยุดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวนี้นะคะ
ลูกน้อยในวัยเล็ก ก็เปรียบเสมือนผ้าสีขาวบริสุทธิ์ ที่รอการแต่งเติมสีสัน และพร้อมซึมซับพฤติกรรมต่างๆ จากคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างง่ายดาย การกระทำในทุกๆ วันจากคุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องไตร่ตรอง และคิดให้ดีก่อนว่าสมควรไหม สำคัญที่สุดคือกฎต้องเป็นกฎ รวมทั้งต้องไม่ทำร้ายทุบตีลูกให้เขารู้สึกหวาดกลัว เก็บกด อ่อนแอ และอย่าลืมดูแลลูกน้อยให้แข็งแรงพร้อมที่จะเข้าสังคมเพื่อการพัฒนา SQ หรือความฉลาดเข้าสังคมในทุกๆ วันด้วยนะคะ