แม่ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ เพื่อพัฒนาการทารกอายุครรภ์ 12 สัปดาห์
สรุป
- อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ทารกในครรภ์จะเจริญเติบโตและมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว คุณแม่ต้องใส่ใจอาหารการกิน การพักผ่อนที่เพียงพอ รวมไปถึงวิธีช่วยลดการแพ้ท้องที่อาจยังมี
- การตรวจด้วยวิธีอัลตร้าซาวน์ จะสามารถเริ่มตรวจได้เมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ช่วงนี้ โดยการตรวจอัลตร้าซาวน์สามารถบอกได้หลายอย่าง เช่น อายุครรภ์ การเจริญเติบโต รวมถึงคัดกรองความผิดปกติบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นกับทารกได้ เช่น กลุ่มอาการดาวน์
- ข้อควรระวังเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ อาทิ มีตกขาวสีผิดปกติและมีกลิ่นรุนแรง หรือการมีเลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุต่อเนื่องควบคู่กับอาการปวดเกร็งบริเวณท้องน้อย ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแท้งคุกคามได้ ดังนั้นหากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที
ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ถือเป็นไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่บางรายอาจยังมีอาการแพ้ท้อง ขนาดของเต้านมขยาย รวมถึงมีอาการคัดตึง ด้านอารมณ์ยังคงแปรปรวน ขี้หงุดหงิด โมโหง่าย คุณพ่อต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่คุณแม่ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ด้วยนะคะ
ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน
เมื่อนับอายุครรภ์จากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยมีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ หรือเท่ากับอายุครรภ์ 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีพัฒนาการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สรีระของคุณแม่เริ่มเปลี่ยนแปลง หน้าท้องเริ่มยื่นมากขึ้น คุณแม่ต้องระมัดระวังงดกิจกรรมบางอย่างที่ต้องใช้ร่างกายหนักหรือส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์ด้วย
ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน
คุณแม่อาจเริ่มรู้สึกอึดอัดร่างกายมากขึ้น เวลาสวมใส่กางเกงหรือกระโปรงตัวเดิมก่อนตั้งครรภ์ อาจมีอาการท้องอืดเพราะหน้าท้องเริ่มขยาย และอาจคลำเจอก้อนแข็งนูนบริเวณหน้าท้องเหนือหัวหน่าวของคุณแม่ได้
พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 12 สัปดาห์ เป็นอย่างไร
ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ ทารกมีขนาดตัวเท่าใด
เมื่อทารกอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ จะมีขนาดประมาณ 10 – 12 เซนติเมตร
ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ ลูกดิ้น แล้วหรือยัง
ทารกในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์นี้ จะเริ่มมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมากขึ้น โดยแขนและขาเริ่มขยับไปมาได้ นิ้วต่าง ๆ พัฒนาอย่างเต็มที่ สามารถงอนิ้วได้ แต่ด้วยขนาดของทารกในครรภ์ยังเล็กมาก คุณแม่จึงอาจยังไม่สามารถรับรู้การดิ้นของลูกได้มากนัก
อวัยวะและระบบต่าง ๆ
เป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาสมองและกล้ามเนื้อของทารกในครรภ์ อวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้าเกือบครบถ้วนสมบูรณ์ แขนขาชัดเจน มีนิ้วและเล็บยาว ทารกจึงเริ่มดูดนิ้ว ลอยตัวในน้ำคร่ำของครรภ์คุณแม่
การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์
- สรีระเริ่มเปลี่ยนแปลง หน้าท้องยื่นชัดเจนขึ้น
- น้ำหนักของคุณแม่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ อาจจะเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ประมาณ 1 กิโลกรัม
- หน้าอกขนาดใหญ่ขึ้น และมีความคัดตึง
อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
- ตกขาว หรือมูกขาวขุ่น ไม่มีกลิ่น เป็นกลไกของร่างกายในการป้องกันเชื้อโรคบริเวณช่องคลอด หากคุณแม่สังเกตพบตกขาวที่มีสีผิดปกติ เช่น สีเหลืองหรือสีน้ำตาล รวมถึงมีกลิ่นรุนแรง ควรรีบพบแพทย์โดยทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณแจ้งว่ามีการติดเชื้อและนำไปสู่อันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
- มีเลือดออกเล็กน้อย ในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้อาจมีเลือดออกเล็กน้อยได้ แต่หากพบว่ามีเลือดออกมาก มีอาการปวดท้องควบคู่ด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันทีนะคะ
- ปวดหัว อาจเกิดขึ้นได้จากการที่คุณแม่ตั้งครรภ์พักผ่อนน้อย รับประทานอาหารได้น้อยลง น้ำตาลตกหรือขาดน้ำ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- วิงเวียน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและระบบไหลเวียนโลหิตที่เปลี่ยนแปลง อาจส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียน หรือคลื่นไส้ได้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่ทานหลายมื้อแทน เพื่อไม่ให้เกิดท้องว่างจะสามารถช่วยลดอาการลงได้
อาหารคนท้อง 12 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
คุณแม่ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ ควรรับประทานเมนูอาหารคนท้องที่มีโปรตีนคุณภาพ เพื่อสร้างเซลล์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ กล้ามเนื้อ และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อาทิ เนื้อสัตว์ ปลา นม ไข่ ถั่ว อีกทั้งยังเป็นการควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม และไม่ทำให้ระดับน้ำตาลสูง จึงควรเลือกทานอาหารที่ให้กากใย อาทิ ผัก ผลไม้ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (ข้าวกล้อง ธัญพืช) และควรหลีกเลี่ยงอาหารดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ และอาหารหมักดองด้วยนะคะ
การอัลตราซาวด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 12 สัปดาห์
เมื่ออายุครรภ์ครบ 12 สัปดาห์ คุณหมอจะสามารถวัดอายุครรภ์ที่แน่นอนได้ ทำให้ทราบกำหนดคลอดที่ค่อนข้างแม่นยำขึ้น โดยคุณหมอจะอัลตราซาวด์วัดความยาวของทารกในครรภ์จากศีรษะถึงกระดูกก้นกบ รวมถึงจะสามารถประเมินความเสี่ยงต่อกลุ่มอาการดาวน์ได้ ด้วยการวัดความหนาของต้นคอ หรือวัดกระดูกจมูกของทารกในครรภ์ ซึ่งหากมีการตรวจกลุ่มอาการดาวน์ด้วยวิธีนำเลือดของคุณแม่ตั้งครรภ์ไปตรวจ จะเป็นการเพิ่มความแม่นยำของการตรวจคัดกรองมากยิ่งขึ้น
ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์
รับมือกับอาการแพ้ท้องอย่างไร
สาเหตุหลักที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการแพ้ท้อง เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน Human Chorionic Gonadotropin: HCG เพิ่มสูงขึ้นในร่างกาย ทำให้เกิดอาการพะอืดพะอม วิงเวียน ปวดหัว เหม็นกลิ่นอาหาร รับประทานได้น้อยลง คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถบรรเทาอาการแพ้ท้องได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มสมุนไพร เช่น น้ำขิง ชาไม่มีคาเฟอีน เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
รู้จักกับภาวะแท้งคุกคาม
ลักษณะของอาการ คือ มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ และต่อเนื่องหลายวัน โดยเป็นช่วงอายุครรภ์ที่ปากมดลูกปิดอยู่ รวมไปถึงมีอาการปวดเกร็งท้องน้อย ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที
มีอะไรบ้างที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวังในช่วงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์
การหมั่นสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงทางร่างกาย โดยเฉพาะอาการผิดปกติ อาทิ เลือดออกต่อเนื่อง หรือมีตกขาวสีผิดปกติ มีกลิ่นรุนแรง เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากยังเป็นช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ทารกในครรภ์กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ความผิดปกติต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกน้อยได้
ในช่วงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์นี้ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่กำลังจะก้าวไปสู่การตั้งครรภ์ไตรมาสสอง ซึ่งทารกในครรภ์จะมีความแข็งแรงมากขึ้น ทั้งนี้ต้องอาศัยการบริโภคอาหารที่ดีมีประโยชน์ เสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนที่มีประสิทธิภาพของคุณแม่ด้วยนะคะ
อ้างอิง:
- ฝากครรภ์ดี มีคุณภาพ ควรฝากก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์, ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กรมอนามัย
- ไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ ( อายุครรภ์ < 14 สัปดาห์ ), โรงพยาบาลบี เอ็น เอช
- 9 เดือน กับพัฒนาการของทารกในครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
- อัลตราซาวด์ และการตรวจความผิดปกติของทารกในครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
- วิธีรับมืออาการแพ้ท้อง ที่คุณแม่มือใหม่ต้องรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1-3, โรงพยาบาลบางปะกอก
อ้างอิง ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566